วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

การทำนาดำ


การทำนาดำ เป็นวิธีการทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ (แปลงกล้า)ให้งอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนต้นกล้าไปปักดำในกระทงนาที่เตรียมไว้ และมีการดูแลรักษาจนให้ผลผลิต การทำนาดำนิยมในพื้นที่ที่มีแรงงานเพียงพอ
การทำนาดำ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
การเตรียมดิน
        การเตรียมดินสำหรับการทำนา ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่น น้ำ ภูมิอากาศ ลักษณะพื้นที่ ตลอดจนแบบวิธีการทำนา และเครื่องมือการเตรียมดินที่แตกต่างกัน
การเตรียมดินแยกได้เป็น 2 ขั้นตอนคือ
1. การไถดะ และไถแปร
การไถดะคือ การไถพลิกหน้าดินครั้งแรกเพื่อกำจัดวัชพืช และตากดินให้แห้ง
การไถแปร คือการไถครั้งที่สองโดยไถขวางแนวไถดะ เพื่อย่อยดินและคลุกเคล้าฟาง วัชพืช ฯลฯ ลงไปในดิน
การไถ ไถด้วยแรงงานสัตว์ เช่น วัว ควาย รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์
2. การคราดหรือใช้ลูกทุบ คือการกำจัดวัชพืช ตลอดจนการทำให้ดินแตกตัว และเป็นเทือกพร้อมที่จะปักดำได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำต่อจากขั้นตอนที่ 1 และขังน้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราด การใช้ลูกทุบหรือเครื่องไถพรวนจอบหมุน(Rotary)
การเตรียมดินในสภาพภูมิประเทศต่างๆ
นาที่สูง
นาดอน (นาน้ำฝน)

นาลุ่ม (นาชลประทาน)
ข้อควรระวังในการเตรียมดิน
        1. ควรปล่อยให้ดินนามีโอกาสแห้งสนิท เป็นระยะเวลานานพอสมควร และถ้าสามารถไถพลิกดินล่างขึ้นมาตากให้แห้งได้ก็จะดียิ่งขึ้น ถ้าดินเปียกน้ำติดต่อกันโดยไม่มีโอกาสแห้ง จะเกิดการสะสมของสารพิษ เช่นแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) และกรดอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งถ้าสารเหล่านี้มีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายต่อรากข้าวได้

        2. ควรมีการหมักฟาง หญ้ารวมทั้งอินทรียวัตถุเพื่อให้สลายตัวสมบูรณ์ ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังการไถเตรียมดิน เพื่อให้ ดินปรับตัวอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นออกมาให้แก่ต้นข้าว

        3. ดินกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำ (pH ต่ำกว่า4.0) ควรขังน้ำไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนปักดำข้าว เพื่อให้ปฏิกิริยาต่างๆ ตลอดจนความเป็นกรดของดินลดลงสู่สภาวะปกติ และค่อนข้างเป็นกลางเสียก่อน ดินกลุ่มนี้ถ้ามีการขังน้ำตลอดปี หรือมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการลดสภาวะความเป็นกรดของดิน และการเกิดสารพิษลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้น
การตกกล้า

        การเตรียมต้นกล้าให้ได้ต้นที่แข็งแรง เมื่อนำไปปักดำก็จะได้ข้าวที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว และมีโอกาสให้ผลผลิตสูง ต้นกล้าที่แข็งแรงดีต้องมีการเจริญเติบโตและความสูงสม่ำเสมอทั้งแปลง มีกาบใบสั้น มีรากมากและรากขนาดใหญ่ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย

        - การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธ์ ปราศจากสิ่งเจือปน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง (ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์) ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง

        - การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดข้าวที่ได้เตรียมไว้บรรจุในภาชนะเช่นตะกร้าไม้ไผ่สาน กระสอบป่านหรือ ถุงผ้า ไปแช่ในน้ำสะอาด นานประมาณ 12-24 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาวางบนพื้นที่น้ำไม่ขัง และมีการถ่ายเทอากาศดี นำกระสอบป่านชุบน้ำจนชุ่มมาหุ้มเมล็ดพันธุ์โดยรอบ รดน้ำทุกเช้าและเย็น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น หุ้มเมล็ดพันธุ์ไว้นานประมาณ 30-48 ชั่วโมง เมล็ดข้าวจะงอกขนาด “ตุ่มตา” (มียอดและรากเล็กน้อยโดยรากจะยาวกว่ายอด) พร้อมที่จะนำไปหว่านได้
เมล็ดข้าวหลังจากแช่และหุ้มแล้วพร้อมที่จะนำไปหว่าน
        ในการหุ้มเมล็ดพันธุ์นั้น ควรวางเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และขนาดของกองเมล็ดพันธุ์ต้องไม่โตากเกินไป หรือบรรจุถุงขนาดใหญ่เกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงในกองหรือถุงข้าว เพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปเมล็ดพันธุ์ข้าวจะตาย ถ้าอุณหภูมิพอเหมาะข้าวจะงอกเร็ว และสม่ำเสมอกันตลอดทั้งกอง

        - การตกกล้า การตกกล้ามีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ เช่นการตกกล้าบนดินเปียก (ทำเทือก) การตกกล้าบนดินแห้ง และการตกกล้าใช้กับเครื่องปักดำข้าว
        การตกกล้าในสภาพเปียก หรือการตกกล้าเทือก เป็นวิธีที่ชาวนาคุ้นเคยกันดี การตกกล้าแบบนี้จะต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากและความสูญเสียจากการทำลายของศัตรูข้าวมีน้อย มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

        - การเตรียมดิน ปฏิบัติเช่นเดียวกับแปลงปักดำ แต่เพิ่มความพิถีพิถันมากขั้น ในการเก็บกำจัดวัชพืช และปรับระดับเทือกให้ราบเรียบสม่ำเสมอ

        - การเพาะเมล็ดพันธุ์ ปฏิบัติตามขั้นตอนของการเตรียมเมล็ดพันธุ์ การแช่และหุ้มเมล็ดพันธุ์ โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 50-60 กรัมต่อตารางเมตร หรือประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อไร่ จะได้กล้าสำหรับปักดำได้ประมาณ 15-20 ไร่

        - การหว่านเมล็ดพันธุ์ ปล่อยน้ำแปลงกล้าให้แห้ง ทำเทือกให้ราบเรียบสม่ำเสมอ นำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะงอกดีแล้วมาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอตลอดแปลง ควรหว่านเมล็ดพันธุ์ตอนบ่ายหรือตอนเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดตอนเที่ยงซึ่งมีความร้อนแรงมาก อาจทำให้เมล็ดข้าวตายได้

        - การให้น้ำ ถ้าตกกล้าไม่มากนัก หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วหนึ่งวัน สาดน้ำรดให้กระจายทั่วแปลง ประมาณ 3-5 วัน กล้าจะสูงพอที่ไขน้ำเข้าท่วมแปลงได้ แต่ถ้าตกกล้ามาก ไม่สามารถที่จะสาดน้ำรดได้ ให้ปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงระหว่างแปลงย่อย ประมาณ 3-5 วัน เมื่อต้นกล้าสูงจึงไขน้ำเข้าท่วมแปลง และค่อยเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของต้นกล้าจนน้ำท่วมผิวดินตลอด ให้หล่อเลี้ยงไว้ในระดับลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร จนกว่าจะถอนกล้าไปปักดำ

        - การใส่ปุ๋ยเคมี ถ้าดินแปลงกล้ามีความอุดมสมบูรณ์สูง กล้างามดีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย เพราะจะงามเกินไป ใบจะยาว ต้นอ่อน ทำให้ถอนแล้วต้นขาดง่ายและตั้งตัวได้ช้าเมื่อนำไปปักดำ แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมฟอสเฟต (16-20-0) อัตราประมาณ 25-40 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่หลังหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วประมาณ 7 วัน หรือเมื่อสามารถไขน้ำเข้าท่วมแปลงได้แล้ว (ดูรายละเอียดในเรื่องการใส่ปุ๋ยแปลงกล้า)

        - การดูแลรักษา ใช้สารป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าวตามความจำเป็น
แปลงกล้าในสภาพเปียก
การตกกล้าในสภาพดินแห้ง การตกกล้าโดยวิธีนี้ ควรกระทำเมื่อฝนไม่ตกตามปกติ และไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำเทือกเพื่อตกกล้าได้ แต่มีน้ำพอที่จะใช้รดแปลงกล้าได้ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

        - การเตรียมดิน เลือกแปลงที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีการระบายน้ำดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่จะนำมารดแปลง ทำการไถดะตากดินให้แห้ง แล้วไถแปร คราดดินให้แตกละเอียด เก็บวัชพืชออก ปรับระดับดินให้ราบเรียบ

        - การตกกล้า ทำได้ 4 แบบคือ
1. การหว่านข้าวแห้ง หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเมล็ดให้งอกก่อน ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์เช่นเดียวกับการตกกล้าเทือก คือประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วคราดกลบเมล็ดพันธุ์ให้จมดินพอประมาณ อย่าให้จมมาก เพราะจะทำให้เมล็ดงอกช้าและโคนกล้าอยู่ลึกทำให้ถอนยาก

2. การหว่านข้าวงอก เพาะเมล็ดให้งอกขนาดตุ่มตา (วิธีการเพาะเช่นเดียวกับการตกกล้าเทือก) อัตราเมล็ดพันธุ์เช่นเดียวกับการหว่านข้าวแห้ง ควรหว่านตอนบ่ายหรือเย็น หว่านแล้วคราดกลบและรดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังการหว่าน

3. การตกกล้าแบบกระทุ้งหยอดข้าวแห้ง หรือวิธีการซิมกล้า เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพนาดอนอาศัยน้ำฝน โดยการไถพรวนดินให้ดินร่วน เพื่อกำจัดวัชพืชและสะดวกต่อการงอกของเมล็ด จากนั้นใช้ไม้กระทุ้งหยอดเมล็ดลงหลุม แล้วใช้ดินหรือขี้เถ้าแกลบกลบเมล็ดเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหรือแมลง มาคุ้ยเขี่ย หลังจากนั้นจึงถอนกล้าจากแปลงกล้านี้ไปปักดำในแปลงปักดำ ซึ่งคิดเป็นอัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปักดำต่อพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 12-15 กิโลกรัมต่อไร่
4. การตกกล้าสำหรับใช้กับเครื่องปักดำ
        การตกกล้าใช้กับเครื่องปักดำข้าว เนื่องจากเครื่องปักดำข้าวมีหลากหลายยี่ห้อ และมีกรรมวิธีรายละเอียดแตกต่างกัน การตกกล้าเพื่อใช้กับเครื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีคำแนะนำมาพร้อมเครื่อง
การปักดำ
        การปักดำควรทำเป็นแถวเป็นแนวซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพ่นยากำจัดโรคแมลง และยังทำให้ข้าวแต่ละกอมีโอกาสได้รับอาหารและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอกัน สำหรับระยะปักดำนั้นขึ้นกับชนิดและพันธุ์ข้าว ดังนี้
- พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปรัง เช่นพันธุ์ สุพรรณบุรี1 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 สันป่าตอง 1 ควรใช้ระยะปักดำระหว่างแถวและระหว่างกอ 20x20 เซนติเมตร หรือ 20x25 เซนติเมตร

- พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปี เช่น เหลืองประทิว123 ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 ปทุมธานี60 ควรใช้ระยะปักดำ 25x25 เซนติเมตร
-   ปักดำจับละ 3-5 ต้น ปักดำลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร จะทำให้ข้าวแตกกอใหม่ได้เต็มที่

        การปักดำลึกจะทำให้ข้าวตั้งตัวได้ช้าและแตกกอได้น้อย

        ไม่ควรตัดใบกล้าเพราะการตัดใบกล้าจะทำให้เกิดแผลที่ใบ จะทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย ควรตัดใบกรณีที่จำเป็นจริงๆ เช่น ใช้กล้าอายุมาก มีใบยาว ต้นสูง หรือมีลมแรง เมื่อปักดำแล้วจะทำให้ต้นข้าวล้ม

        อายุกล้า การใช้กล้าอายุที่เหมาะสม จะทำให้ข้าวตั้งตัวเร็ว แตกกอได้มาก และให้ผลผลิตสูง อายุกล้าที่เหมาะสมสำหรับปักดำ ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ข้าวดังนี้
- พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปรัง เช่นพันธุ์ สุพรรณบุรี1 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 ควรใช้กล้าที่มีอายุประมาณ 20-25 วัน

- พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปี เช่น เหลืองประทิว123 ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 ปทุมธานี60 ควรใช้กล้าที่มีอายุประมาณ 25-30 วัน
        ระดับน้ำในการปักดำ ควรมีระดับน้ำในนาน้อยที่สุด เพียงแค่คลุมผิวดิน เพื่อป้องกันวัชพืชและประคองต้นข้าวไว้ไม่ให้ล้ม การควบคุมระดับน้ำหลังปักดำก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะระดับน้ำลึกจะทำให้ต้นข้าวแตกกอน้อย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่ำ ควรควบคุมให้อยู่ในระดับลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ (10 เซนติเมตร)
 ข้อมูลจาก http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/rice/plant/tamna-dum.htm

ผู้นำในอาเซียน


ผู้นําประเทศอาเซียน 10 ชาติ ... รู้กันไหม มีใครบ้าง?

ประเทศอาเซียน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก bruneiresources.com , en.nhandan.org.vn , shariafreeusa.com ,pasalao.activeboard.com , en.wikipedia.org

         เมื่อเอ่ยถึง "ประชาคมอาเซียน" ทุกคนทราบดีว่า เป็นการรวมกลุ่มกันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 10 ประเทศ อันได้แก่ ประเทศบรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งผู้นำทั้ง 10 ชาตินี้ อยู่ในฐานะ "ผู้นำประเทศอาเซียน" ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันจนนำไปสู่ "ประชาคมอาเซียน"

         ว่าแต่...นอกจากประเทศไทยแล้ว เพื่อน ๆ พอจะทราบกันไหมว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีการปกครองในรูปแบบไหน ใครเป็นประมุข หรือผู้ปกครองประเทศอาเซียนบ้าง ถ้ายังจำได้ไม่หมดทุกคน ก็ตามกระปุกดอทคอมมารู้จักกับ "ผู้นำประเทศอาเซียน" ทั้ง 10 ประเทศกันให้มากขึ้นเลย (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555)


1. เนการาบรูไนดารุสซาลาม หรือ ประเทศบรูไน

          พระมหากษัตริย์ และนายกรัฐมนตรี: สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ 
         ประเทศบรูไน ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยรัชกาลปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ ทรงเป็นพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 28 แห่งบรูไน มีพระชนมายุ 66 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระประมุขแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้นำทางศาสนาอิสลามแห่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม

2. ราชอาณาจักรกัมพูชา




          พระมหากษัตริย์ : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี

         ประเทศกัมพูชา ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี มีพระชนมายุ 59 พรรษา ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยมติเป็นเอกฉันท์ของคณะที่ปรึกษาราชบัลลังก์ ภายหลังการประกาศสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระราชบิดา อันเนื่องจากปัญหาทางพระพลานามัย


ฮุนเซน

          นายกรัฐมนตรี : สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน
         ฮุน เซน หรือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ปัจจุบันอายุ 61 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตั้งแต่อายุ 33 ปี ในยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของกัมพูชา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน เมื่อ พ.ศ. 2536

3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย


          ประธานาธิบดี : นายซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน

         ประเทศอินโดนีเซีย ปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี ปัจจุบันมีนาย ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน อายุ 63 ปี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 แห่งอินโดนีเซีย และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ภายหลังมีการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

          นายกรัฐมนตรี : ไม่มี

4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


          ประธานาธิบดี : พลโทจูมมะลี ไซยะสอน

         สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ผู้นำสูงสุดของประเทศเรียกว่า "ประธานประเทศ" เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน อายุ 76 ปี เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของประเทศ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกหนึ่งตำแหน่ง

           นายกรัฐมนตรี : นายทองสิง ทำมะวง

         นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ นายทองสิง ทำมะวง ปัจจุบันอายุ 68 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และยังดำรงตำแหน่งกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค พรรคประชาชนปฏิวัติลาว อีกหนึ่งตำแหน่ง ก่อนหน้านั้นในช่วง พ.ศ. 2549-2553 เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติ

5. ประเทศมาเลเซีย

 

          พระมหากษัตริย์ : สมเด็จพระราชาธิบดี สุลตาน มุซตาซีมุ บิลลาฮ์ อับดุล ฮาลิม มุอัซซัม ชาฮ์ อิบนี อัลมาร์ฮุม สุลตาน บาดิร ชาฮ์ 

         ประเทศมาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รูปแบบคล้ายกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยประมุขแห่งรัฐมีตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดี องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดี สุลตาน มุซตาซีมุ บิลลาฮ์ อับดุล ฮาลิม มุอัซซัม ชาฮ์ อิบนี อัลมาร์ฮุม สุลตาน บาดิร ชาฮ์ พระชนมายุ 85 พรรษา ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียลำดับที่ 5 และ 14 และทรงเป็นสุลต่านแห่งรัฐเกดะห์ พระองค์ปัจจุบัน

          นายกรัฐมนตรี : นายนาจิบ ราซะก์

         ดาโต๊ะซรี ฮัจญี โมฮัมมัด นาจิบ บิน ตน ฮัจญี อับดุล ราซะก์ หรือ นายนาจิบ ราซะก์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศมาเลเซีย หรือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศ ปัจจุบันอายุ 59 ปี เกิดมาในครอบครัวนักการเมือง เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และสังกัดพรรคอัมโน


6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

กต. แจ้ง เต็งเส่ง เยือนไทย 22-24 ก.ค.

          ประธานาธิบดี : พลเอกเต็ง เส่ง
         สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ พม่า ปกครองประเทศด้วยระบบประธานาธิบดี ปัจจุบันคือ พลเอกเต็ง เส่ง หรือ เทียน เส่ง อายุ 67 ปี รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 หลังจากชนะการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พลเอกเต็ง เส่ง เคย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของพม่า ในช่วงปี พ.ศ. 2550 จนถึง พ.ศ. 2554

          นายกรัฐมนตรี : ไม่มี

7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์



         ประธานาธิบดี : นายเบนิกโน อากีโนที่ 3


         ประเทศฟิลิปปินส์เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงรับเอาการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้บริหารประเทศ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเบนิกโน อากีโนที่ 3 หรือ เบนิกโน ซีเมออน โกฮวงโก อากีโนที่ 3 ปัจจุบันอายุ 52 ปี ดำรงตำแหน่งตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 15 ของประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

          นายกรัฐมนตรี : ไม่มี

8. สาธารณรัฐสิงคโปร์

 

          ประธานาธิบดี : นายโทนี ตัน เค็ง ยัม

         ประเทศสิงคโปร์ ปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายโทนี ตัน เค็ง ยัม ปัจจุบันอายุ 72 ปี เพิ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 หลังจากทำคะแนนเฉือนชนะคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ ไปเพียง 0.34% จึงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์ คนที่ 7 นับแต่นั้นมา

          นายกรัฐมนตรี : นายลี เซียน ลุง 

         นายลี เซียน ลุง ปัจจุบันอายุ 60 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ ต่อจากนายโก๊ะ จ๊ก ตง ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ ทั้งนี้ นายลี เซียน ลุง เป็นบุตรชายคนโตของ นายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรี

9. ราชอาณาจักรไทย 

ในหลวง

          พระมหากษัตริย์ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

        ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเรียกรวมกันว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของประเทศมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จนถึงขณะนี้ทรงครองราชย์มาแล้ว 66 ปี ถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนม์ชีพอยู่ที่เสวยราชย์นานที่สุดในโลก และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย


          นายกรัฐมนตรี : นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

         นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา นับเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

          ประธานาธิบดี : นายเจือง เติ๊น ซาง

         ประเทศเวียดนามมีการปกครองในรูปแบบคอมมิวนิสต์ มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเจือง เติ๊น ซาง อายุ 62 ปี เป็นสมาชิกระดับผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 9 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หลังจากได้รับคะแนนสูงสุดจากการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี

          นายกรัฐมนตรี : นายเหงียน เติ๊น สุง

         นายเหงียน เติ๊น สุง ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 6 ของประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีอายุ 63 ปี สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ ในอดีตเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม (State Bank of Vietnam)

         และนี่ก็คือรายชื่อผู้นำทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน จะเห็นว่า ผู้นำของแต่ละประเทศจะมีสถานะ และบทบาทแตกต่างกันไปตามระบอบการปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งเราคนไทยก็ควรจะรู้จักข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้านร่วมอาเซียนไว้บ้าง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าข้อมูลจาก  www.Kapook.comhttp://hilight.kapook.com/view/76849

การทำนาในอดีต


การทำนาในอดีต
การเกษตรของชาวบ้านในอดีตจะทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการทำนาข้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ การทำนาอาศัยน้ำฝน และใช้แรงงานควายและแรงงานคนเป็นหลัก เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ทำไร่ ทำเฉพาะนาพอให้ได้ข้าวเก็บไว้กิน มีการปลูกพริก แตง ฟักทอง และอื่นๆ มีการเตรียมการและขั้นตอนดังนี้
เตรียมทุน
ทุนที่ต้องลงในการทำการเกษตรในอดีตนั้นมีไม่มากนัก เพราะงานส่วนใหญ่จะใช้แรงตนเองและแรงสัตว์เป็นหลัก แหล่งเงินทุนจึงไม่ค่อยจะจำเป็นมากนัก แต่เมื่อมีการสามารถกู้ยืม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส)ได้ เกษตรกรก็เริ่มกู้ยืมเงินมาใช้ ส่วนหนึ่งลงทุนในการทำการเกษตรแต่เป็นส่วนน้อยเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง ที่เหลือก็จะนำไปใช้ในการอื่น
เตรียมพันธ์ข้าว
เมื่อใกล้จะเข้าหน้าฝนชาวบ้านจะเตรียมหาเมล็ดพันธ์ข้าว หากไม่ได้เก็บไว้เองก็จะไปขอกับเพื่อนบ้านหรือขอจากหมู่บ้านใกล้เคียง ข้าวที่ได้มาจะตั้งชื่อตามแหล่งที่ได้พันธ์ข้าวมาเช่น
  • ข้าวขาวโนนทอง หากได้มาจากบ้านโนนทอง
  • ข้าวขาวแม่ใหญ่จ่าย หากแม่ใหญ่จ่ายเป็นผู้ให้พันธ์ข้าว
  • ข้าวหอมลุงดา หากลุงดาเป็นคนให้พันธุ์และข้าวเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอม
นอกจากนั้นยังมีมีการแยกพันธุ์ข้าวตามอายุของการออกรวงข้าวเป็น ข้าวหนัก และข้าวเบา
  • ข้าวหนักคือข้าวที่ออกรวงช้า ใช้ปลูกในนาที่มีน้ำมากเพื่อเลี่ยงการเกี่ยวข้าวจมน้ำซึ่งจะเป็นการลำบากในการเก็บเกี่ยว และข้าวจะเปียก มีความชื้นสูง
  • ข้าวเบา คือข้าวที่ออกรวงเร็ว ใช้ปลูกในนาที่มีน้ำน้อยเพื่อเลี่ยงการที่ข้าวออกรวงไม่ทันน้ำ
เตรียมควาย
ควายที่เป็นแรงงานหลักของการทำนา ตัวที่โตพอจะใช้งานได้จะมีการฝึก เพื่อจะสามารถบังคับควายได้ และไถนาได้ มีขั้นตอนดังนี้

สนตะพาย นั่นคือการนำเชือกมาร้อยเข้าไปในจมูกของควาย วิธีการทำก็คือจับควายที่ยังไม่ได้สนตะพายมาผูกกับหลักไม้ให้แน่นไม่ให้ดิ้นได้ โดยเฉพาะส่วนหัว แล้วเอาเหล็กหรือไม้ไผ่แหลมขนาดเท่ากับเชือกแทงผ่านเข้าไปที่กระดูกอ่อนที่เป็นผนังกั้นระหว่างรูจมูกด้านในของควาย หากใช้เหล็กแหลมจะต้องเผาไฟให้เหล็กร้อนจนแดง และจุ่มลงไปในน้ำให้เหล็กเย็นทันที ด้วยการทำอย่างนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรคและทำให้เหล็กไม่มีสนิม เมื่อรูได้แล้วใช้เชือกร้อยเข้าไปในจมูกควาย ดึงเชือกอ้อมผ่านใต้หูไปผูกเป็นเงี่ยนตายเอาไว้บริเวณท้ายทอย ไม่ผูกแน่นหรือหลวมเกินไป การสนตะพายควายนี้ส่วนมากจะวานคนที่มีความชำนาญมาช่วยทำการ
เมื่อได้ตะพายควายแล้วจะฝึกให้ควายชินกับการถูกสนตะพายด้วยการผูกเชือกและปล่อยให้ควายเดิน ควายอาจะจะเหยียบเชือกบ้างเป็นครั้งคราว การฝึกแบบนึ้จะทำให้ควายเคยชินเมื่อถูกจูง
การฝึกจูงควายและบังคับ จะใช้เชือกผู้เข้ากับตะพายของควาย นิยมผูกทางด้านซ้ายมือ แล้วให้ควายเดินไปข้างหน้าของผู้จูง ในการบังคับให้ควายเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวานั้น ทำได้ดังนี้ หากผูกเชือกทางด้านซ้ายมือต้องการให้ควายเลี้ยวซ้ายให้ดึงเชือกที่ผูกกับตะพาย ควายก็จะเลี้ยวซ้าย หากต้องการให้ควายเลี้ยวขวาให้กระตุกเชือกถี่ๆ เบาๆ ควายก็จะเลี้ยวขวา เมื่อควายเริ่มชินต่อการจูงแล้วสำหรับตัวที่คุ้นก็สามรถขี่หลังได้แต่ขี่ไม่ได้ทุกตัวไปขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยระหว่างเจ้าของกับควาย หากควายที่ยังไม่โตพอที่จะฝึกไถนาได้ก็เพียงสนตะพายเท่านั้น หากควายโตพอที่จะลากไถได้ก็จะฝึกให้ไถต่อไป
ฝึกให้ควายไถนาควายที่โตพอจะถูกฝึกให้ไถนา การฝึกควายไถนานี้ต้องใช้คนสองคน คนหนึ่งเป็นคนจูงเพื่อนำทางควาย อีกคนจะเป็นคนไถ การฝึกไถอาจจะใช้เวลาแต่ต่างกันไปสุดแล้วแต่ความชำนาญของผู้ฝึกและความคุ้นของควาย ปกติแล้วจะใช้เวลาฝึกไถไม่นานนัก แต่จะฝึกบ่อยๆ มักจะฝึกช่วงช้าวเพราะแดดไม่แรง เมื่อควายพร้อมที่จะไถนาจริงก็จะเริ่มไถจริงต่อไป
เตรียมไถ
ไถเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการทำนาของเกษตรกรบ้านหัวถนน ไถในอดีตจะทำด้วยไม้ จะมีเพียงผานไถ ปะขางไถ ขอสำหรับเกาะผอง (ท่อนไม้ที่ไว้ผูกเชือกต่อจากแอกที่คอควาย)เท่านั้นจะเป็นเหล็ก ไม้ที่ใช้ทำจะเป็นไม้เนื้อแข็งเช่นไม้ประดู ไม้มะค่า ตัวไถจะเป็นไม้สามชิ้นได้แก่ คันไถ หางไถ และหัวหมู ประกอบกันด้วยการเข้าลิ่ม และส่วนที่ผูกติดกับควายอีกสามชิ้นส่วนประกอบของไถมีดังนี้


  • หางไถ คือส่วนที่ชาวนาใช้จับเวลาไถ เป็นไม้ชิ้นเดียวทำให้เป็นลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ15องศา มาจนถึงส่วนที่จะต่อเข้ากับคันไถจะเจารูสี่เลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อกับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้วส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งจะยื่นไปด้านหลังระดับประมาณเอว
  • คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อกับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อกับรูเดือยตัวเมียที่หางไถ ทำให้แน่โดยใช้ลิ่มตีเข้าด้านบนเพื่อให้ไม้สองชิ้นประกอบกันแน่น ส่วนปลายยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง มีปลายช้อนขึ้น เพื่อใส่ตะขอสำหรับต่อกับผองไถ
  • หัวหมู คือส่วนที่ใช้ไถดิน จะประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว เพื่อรักษาระดับไถเวลาไถนา ส่วนประกบอที่เป็นเล็กตัวส่วนหัว จะเป็นรูปทรงแหลมกลวงเรียกว่าผานไถ ใช้ส่วยเข้ากับตัวไม้แล้วยึดติดด้วยตะปู ส่วนที่เป็นเหล็กแผ่นรับขึ้นมาอีกชิ้นเรียกว่า ปะขางไถใช้บังคับดินที่ถูกไถ หรือที่เรียกว่าขี้ไถให้พลิกไปตามแนวที่ต้องการ ที่หมู่บ้านหัวถนนนิยมเอียงไปทางด้านซ้ายมือ

  • หัวหมู
    หัวหมู
    หัวหมู
    หัวหมู
    หัวหมู
    หัวหมู


  • ผองไถ ส่วนนี้จะเป็นไม้ท่อนกลมๆ มีขอเหล็กติดอยู่ตรงกลางเพื่อยึดเข้ากับขอเหล็กของคันไถ ส่วนหัวทั้งสองข้างจะทำเป็นปมหยัก เพื่อใช้ผูกเชือกติดกับปลายที่แอกคอควาย
  • แอก คือไม้ชิ้นที่ทำเพื่อวางบนคอควาย มีลักษณะเหมือนเขาควายกางออก ตรงกลางสูงขึ้นเพื่อให้รับพอดีกับคอควาย ส่วยปลายสองข้างไว้ผูกเชือกต่อกับผองไถ
  • ผองคอควาย คือส่วนที่อยู่ใต้คอควาย เป็นไม้ชิ้นแบนๆ ทำให้เป็นรูประมาณครึ่งวงกลมด้านบนเรียบเพื่อให้รับเข้าได้กับคอควาย ด้านล่างจะทำรูเพื่อร้อยเชือกเพื่อผูกให้ผองคอควายติดกับกับแอกและแนบกับคอควายได้พอดี

  • มีไถเหล็กมาแทนที่ไถไม้บ้างเพราะน้ำหนักเบาและทนทานกว่า แต่ไถไม้ก็ยังมีใช้อยู่
    เตรียมคราด
    คราดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำสำหรับทำให้ดินที่ไถแล้วละเดียด ประกอบด้วยตัวคราด ลูกคราด คันคราด และเสาจับคราด และมือจับ
    • ตัวคราด เป็นไม้ท่อนเจาะรูกลมสำหรับใส่ลูกคราด
    • ลูกคราด เป็นท่อนไม้กลมๆ รูปเรียวด้านปลายตีเข้าไปในรูของตัวคราด โผล่ออกมาจากตัวคราดประมาณ 10-15 ซม.แต่ละซี่ห่างหันประมาณ 10-15 ซม.เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ไม่มีสูตรตายตัว)
    • คันคราด เป็นไม้สองชิ้นยาวที่ต่อระหว่างตัวคราด ขนานกลับพื้น ยาวจนถึงแอกควาย เวลาใช้งานควายจะอยู่ระหว่างคันคราด
    • เสาจับคาด เป็นเสาสองเสาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวยึดมือจับกับตัวคราด
    • มือจับ เป็นไม้ยาวทรงกลมสำหรับจับเวลาคราดนา
    ส่วนที่ผูกกับคอควายก็ใช้แอกและผองคอควายของไถ
    เตรียมเชือก
    ส่วนใหญ่จะเป็นเชือกที่ฝั่นด้วยปอ หรือเถาวัลย์ เช่นเถาหลำเปรียง หรือเครือกระไดลิง หรือเป็นเชือกที่ซื้อมาจากตลาด เชือกมีศัพย์เรียกเฉพาะว่าเชือกค่าว หรือ ค่าว ใช้ผู้ต่อเชื่อส่วนต่างๆ ของไถเข้ากับตัวควาย เพื่อบังคับควย เชือกที่ฝั่นเองไม่ค่อยจะมีคนนิยมทำกันนัก ส่วนใหญ่จะซื้อจากตลาดเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่ฝั่นเองอยู่บ้าง
    เตรียมนา
    เมื่อได้พันธุ์ข้าวมาแล้วก็รอให้ถึงเวลาหน้าฝน ซึ่งในอดีตจะสามารถคาดได้ว่าฝนน่าจะตกประมาณเดือนไหน เกษตรกรก็จะเตรียมไถนาเตรียมแปลงเอาไว้
    การไถจะเดินเวียนไปทางด้านซ้าย จากรอบนอกเข้ามาด้านใน ต้องหมั่นระวังรอยไถไม่ให้ห่างกัน ห่างคนไถไม่ชำนาญดินจะถูกไถไม่หมดภาษาถินเรียกว่า “ไถระแวง” เวลาไถเกษตรกรจะทำเสียงดุควายเพื่อเร่งให้ควายอยู่ในการบังคับ มักจะทำเสียงว่า “ฮึย…จุ๊ จุ๊ จุ๊…ฮึย” จนเป็นเสียงไล่ควายที่เป็นที่นิยมทำกัน หากควายไม่ดื้อเกษตรกรก็จะเพียงกระตุกเชือกเบาๆ ไล่ให้ควายเดิน แต่หากควายตัวไหนที่ดื้อ ผู้ไถก็จะใช้ปลายเชือก หรือไม้เรียวตี การไถปกติจะไถสองครั้ง ครั้งแรกไถเตรียมรอฝน หรือไถตอนต้นฝน แล้วทิ้งเอาไว้ระยะนึง ก่อนจะทำการไถที่อีกครั้งเมือฝนเริ่มชุก ครั้งนี้เรียกว่าไถแปร การไถจะใช้แรงงานควายไถไม้ที่มีผานไถเป็นเหล็ก บางคนจะเรียกว่าปะขางไถ ในระยะหลังๆ เริ่มมีไถเหล็กมาใช้ซึ่งจะแข็งแรงและเบากว่า
    เมื่อไถเสร็จก็จะคราดนาเพื่อให้ดิดเรียบและไม่มีเศษหญ้า เหมาะแก่การหว่านกล้า หรือดำ แปลงแรกที่ไถจะใช้สำหรับเพราะพันธ์กล้าข้าว
    คันนาจะได้รับการซ่อมแซมส่วนที่ขาดไปด้วยกานขุดดินขึ้นมาปั้นเป็นรูปคันยาวๆ เพื่อให้นาเก็บน้ำได้ ส่วนไหนที่ขาดหรือต่ำลงก็จะได้รับการซ่อมแซมซึ่งมีศัพท์เฉพาะว่า ปิดคันนา การปิดคันนามักจะทำไม่ใหญ่นัก ส่วนมากจะทำขนาดกว้างพอเดินได้ นอกเสียจากว่าจะเป็นที่น้ำลึกหรือต้องการจะปลูกพืชอื่นบนคันนาถึงจะทำใหญ่ขึ้น ไม่มีขนาดมาตราฐานตายตัว
    การไถนาจะนิยมไถแต่เช้ามืดควายจะได้ไม่เหนื่อยมาก หากมีควายหลายตัวอาจจะผลัดควายเป็นเพื่อให้ควายได้พักกินหญ้า สำหรับคนที่ไม่มีควายก็จะยืมควาย หรือวานกันไถ คนที่ยืมความก็จะตอบแทนด้วยการเลี้ยงควายให้
    เตรียมแปลงหว่านข้าวกล้า
    แปลงนาจะเตรียมสองแบบคือแบบสำหรับหว่านข้าวกล้า กับเแบบที่ใช้เพื่อดำ แปลงที่เตรียมไว้หว่านจะมีปล่อยน้ำให้เหลือน้อยไม่ท่วมเมล็ดข้าว และใช้ไม้ไผ่สวมที่ลูกคราดปาดให้แปลงนาเสมอเหมาะแก่การหว่านข้าว ส่วนแปลงที่เตรียมไว้สำหรับดำไม่ต้องทำลักษณะนี้เพียงไถและคราดเท่านั้น
    เตรียมกล้าข้าว
    เมื่อเตรียมแปลงนาเหมาะที่จะหว่านกล้าได้แล้วชาวนาก็จะล้างมะเล็ดพันธุ์ข้าว และแช่พันธ์ข้าวด้วยน้ำในภาชนะประมาณ 2-3 วันจนเมล็ดพันธุ์ข้าวแตกราก จะเรียกพันธุ์ข้าวว่า ข้าวปลูก เมื่อได้ข้าวปลูกแล้วจะนำไปหว่านลงแปลงนาที่เตรียมไว้ แปลงนาที่หว่านข้าวปลูกนี้จะเปิดน้ำออกไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ทำร่องน้ำอยู่ในระหว่างพอให้หว่านข้าวปลูกเพื่อใช้ในการเดินหว่านและดูแลเวลาที่กล้ายังไม่โต
    รอเวลาประมาณสามอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน กล้าข้าวก็จะโตพอที่จะรับการถอน การถอนกล้าจะเป็นกำแล้วฟาดส่วนรากกับเท้าเพื่อให้ดินที่ติดอยู่กับรากหลุดออก เมื่อได้กล้าพอยกไหวก็จะมัดด้วยตอกไม้ไผ่ตรงส่วนยอดแล้วตัดใบกล้าข้าวออกเพื่อให้กล้าข้าวไม่คายน้ำมากเกินไปเวลาดำ
    การขนย้ายกล้าข้าวไปในแปลงที่ดำข้าวจะใช้ไม้ไผ่แหลมสองข้างที่มีศัพย์เรียกเฉพาะว่าไม้หลาว เสียเข้าไปใต้ส่วนที่มัดด้วยตอกไม้ไผ่ ข้างละเท่าๆ กันแล้วแล้วหาบไปไว้เป็นจุดๆ ตามแปลงที่เตรียมดำ
    ทำหุ่นไล่กา
    เมื่อหว่านข้าวปลูกเสร็จมักจะมีนกและกามากินข้าวที่หว่าน ชาวนาจะทำหุ่นไล่กา วิธีการจะให้ไม้ทำเป็นกากะบาดเหมือนไม้กางเขน สูงขนาดตัวคน แล้วสวมด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ หมวกหรืองอบเก่าไว้ตรงส่วนหัว ทำให้เหมือนคน พอลมพัดหุ่นก็จะขยับ เป็นการไล่นก ไล่กาได้ระดับนึ่ง
    เตรียมแปลงนาดำ
    แปลงนาดำนี้จะมีการเตรียมคล้ายกับแปลงหว่านแต่ไม่ต้องปรับผืนดินที่ไถให้เรียบ น้ำในนาก็จะปล่อยออกเพียงไม่ท่วมกล้าข้าว
    การดำนา
    เมื่อได้แปลงนาเพื่อใช้ดำและกล้าข้าวเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำนา การดำนาชาวนาจะอุ้มมัดกล้าไว้ที่อกด้วยมือซ้าย แยกเอากล้าข้าวออกด้วยมือขวาประมาณสี่ถึงห้าต้น ใช้นิ้วโป้งกดรากข้าวลงไปในดินแล้วกลบให้กล้าตั้งต้นได้ด้วยน้ิวที่เหลือ การดำจะดำถอยหลังให้ต้นกล้าห่างกันประมาณหนึ่งศอก แถวต่อมาก็จะดำระหว่างกลาง มีลักษณะเป็นสามเส้า การดำนาในลักษณะอย่างนี้ชาวนาต้องก้มเป็นเวลานาน
    การใส่ปุ๋ย
    ปุ๋ยที่ใสนาไม่มีมาตราฐานตายตัว ชาวนาส่วนใหญ่จะปุ๋ยที่โฆษณาตามท้องตลาด หว่านลงไปในนาเพื่อบำรุงข้าว บางคนก็ใช้ปุ๋ยคอกตามแต่จะสะดวก
    การเรียกขวัญข้าว
    การเรียกขวัญข้าวนิยมทำกันทั่วไปแต่ไม่ทุกบ้าน การเรียกขวัญข้าวนี้เป็นการบูชาพระแม่โพสพ ที่เชื่อกันวันเป็นผู้ดูแลข้าว ทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ นิยมทำกันในวันออกพรรษา วิธีการทำก็จะแตกต่างกันออกไป แต่พอสรุปได้ดังนี้
    พิธีกรรม
    หลังจากถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ หญิงที่แต่งงานแล้วจะเตรียมอุปกรณ์ การเรียกขวัญข้าว ดังนี้
    • กรวยก้นแหลม 2 กรวย
    • ดอกไม้
    • ขนมห่อ (ขนมสอดไส้) ข้าวต้มมัด กล้วยสุก เข้าเปียกหวาน
    • แป้งผัดหน้า น้ำมันใส่ผม ขี้ผึ้งสีปาก
    • หมาก พลู บุหรี่
    • ต้นอ้อย
    • ไม้ไผ่ (จักให้เป็นตอก มีลักษณะคล้ายต้นข้าว รวงข้าว)
    ขนมห่อ ข้าวต้มมัด กล้วยสุก ขอจากวัดที่ชาวบ้านนำไปทำบุญ เนื่องจากของถวายพระย่อมเป็นของดีและจัดทำอย่างประณีต เมื่อนำมาประกอบพิธีย่อมทำให้เกิดสิริมงคล รวงข้าวจะอุดมสมบูรณ์ หญิงผู้ประกอบพิธีนำอุปกรณ์ที่เตรียมไปที่นาของตนปักต้นอ้อยไม้ไผ่ลงบนมุมคันนา ที่หัวนาด้านทิศเหนือ วางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เตรียมมาบนตะแกรงไม้ไผ่สานหยาบ ๆ ปูผ้ากราบ 3 ครั้ง แล้วกล่าวคำเรียกขวัญดังนี้
    “วันนี่ วันดี วันออกพรรษา พระแม่โพสพคงจิสะเอียขนม ข้าวต้ม ขอเชิญมากินเครื่องสังเวย พวกนี้ซะเด้อ เจ้าข้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ก็ขอให้ผัดหน่า ทาน้ำมัน สีขี้ผึ่ง กินหมาก สูบยา ซะเนอ อุ้มท่อง ปีนี่ขอให่ อุ้มท่องใหญ่ ๆ ทีเดียว ขอให่ได้รวงละหม่อกอละเกียนเด้อ ให่ได้เข่าได้เลี้ยงลูกปลูกโพ อย่าให่ได้อด ได้อยาก ได้ยาก ได้จน เดอ ขวัญแม่โพสพเอย มากู๊”
    ใช้เป็นภาษาโคราช ซึ่งแปลความได้ว่า
    “วันนี้ วันดี วันออกพรรษา พระแม่โพสพคงจะอยากกินขนม ข้าวต้ม ขอเชิญมากินเครื่องสังเวยเหล่านี้เสียน๊ะ เมื่อกินอิ่มแล้ว ขอให้ผัดหน้า ทาน้ำมัน สีขี้ผึ้ง กินหมาก สูบยา ด้วย อุ้มท้องปีนี้อขอให้ท้องใหญ่ๆ เลยนะ ขอใด้ได้รวงละหม้อกอละเกวียนนะ ให้ได้ข้าวพอเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ อย่าให้อดอยาก มีความยากจนนะ ขวัญแม่โพสพเอย มากู๊ เป็นการกู่เรียก)
    กล่าวจบแล้วกราบ 3 ครั้ง จบพิธี
    การเรียกขวัญข้าวนี้ทำกันตามความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น คำกล่าวต่างๆ ก็สุดแล้วแต่จะนึกหรือจำได้ไม่มีมาตราฐาน
    เตรียมลาน
    ลานข้าวเป็นที่ๆ ชาวนาจะใช้ในการตีข้าว จะถูกเตรียมไว้ก่อนการเกี่ยวข้าว โดยาการถากและปรับดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ขี้ควายเปียกมาย่ำให้ละเอียด มีความเหลวพอที่จะทาผืนดิน ใช้ไม้กวดที่ทำจากต้อนขัดมอญซึ่งหาได้ทั่วไปในหมู่บ้าน ตัดและมัดเป็นกำเพื่อกวาดให้ขี้ควายเสมอ ฉาบเป็นผิวหน้าของลาน ปล่อยไว้ให้แห้งเหมาะสำหรับเก็บฟ่อนข้าว
    การเกี่ยวข้าว
    เมื่อข้าวเริ่มออกรวงเหลืองพอที่จะเกี่ยวได้แล้ว หากข้าวสูงมากชาวนาจะใช้ไม้ใผ่ลำยาวๆ นาบข้าว ให้ข้าวล้มไปทางเดียวเพื่อง่ายต่อการเกี่ยว เมื่อนาบเสร็จก็จะเริ่มเกี่ยวข้าว โดยใช้เคียวเกี่ยวเป็นกำวางไว้เป็นแถวบนซังข้าว เพื่อตากเข้าไปในตัว บางบ้านจะเกี่ยวรวงข้าวยาวๆผูกกัน ที่มีศัพย์เรียกเฉพาะว่าเขน็ด เขน็ดจะเป็นตัวรัดข้าวให้เป็นฟ่อน จะนิยมมัดฟ่อนข้าวในตอนเช้าเพราะเขน็ดข้าวจะอ่อนเนื่องจากตากน้ำค้าง จากนั้นใช้ไม้หลาวหาบผ่อนข้าวมาตั้งเรียงเป็นกองง่ายต่อการตีข้าว
    การเกียวข้าวอาจจะวาน(ลงแขก)เพื่อนบ้านมาช่วยกันเกี่ยวในเวลาที่เกียวไม่ทัน เจ้าของนาจะเตรียมข้าวปลาอาหาร หรืออาจจะมีการแอบทำสาโทไว้เลี้ยงคนมาช่วยเกี่ยว บางครั้งเกี่ยวไปร้องเพลงกันไป

    การตีข้าว
    อุปกรณ์ที่ใช้
    • ไม้ตีข้าว หรือเรียกภาษาโคราชว่าไม่ตีหัวข้าว ทำด้วยไม้ขนาดกำถนัด ยาวประมาณศอครึ่ง ชิ้นนึงยาวกว่าประมาณหนึ่งคืบ ผูกติดกันด้วยเชือกยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเวลาตี
    • ลานข้าว
    เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จหรือมากพอที่จะตี ชาวนาจะใช้ไม้ตีหัวข้าว เวลาตีใช้ไม้ขัดหัวข้าวรัดฟ่อนข้าวให้แน่นแล้วตีลงไปที่ลานข้าว สังเกตว่าเมล็ดข้าวออกหมดพอประมาณแล้วก็จะเหวียงฟ่อนฟางให้คนเก็บฟางตั้งเป็นลอมฟางเป็นชั้นๆ การตั้งลอมฟางจะตั้งฟ่อนฟางเป็นวงกลมจากนอกเข้าใน จะทำให้ฟ่อนฟางแน่นและสามารถตั้งให้สูงได้
    การตีข้าวนี้นิยมวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันตีในเวลากลางคืน เรียกว่าตีข้าววาน จะมีการแข่งขันกันว่าใครขว้างฟ่อนฟางได้แม่นยำ หรือสูงกว่ากัน ทำให้เกิดความสนุกสนานครืนเครงไปในตัว

    การนวดข้าว
    ฟางที่เหลือจากการตีข้าว เมื่อตีข้าวเสร็จแล้วจะนำมานวดเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเปลือกที่เหลือติดฟาง
    อุปกรณ์ที่ใช้
    • ลานข้าว
    • หลักผูกควาย
    • ควาย
    • ไม้ขอฉาย เป็นไผ่ป่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซม. ยาวประมาณ 180 ซม. ริแขนงไผ่ออกเหลือแต่ส่วนปลายอันเดียว แขนงส่วนที่เหลือนี้ตัดให้ยาวประมา 1 คืบ ทำให้งอด้วยการลนไฟ แล้วเหลาให้ปลายเรียว ใช้เพื่อเกาะฟางให้กระจาย หรือขนย้ายฟางให้กองรวมกันเป็นกองฟาง ส่วนด้ามถือใช้สำหรับตีนวดข้าวได้ด้วย
    วิธีการนวดข้าว
    • ฝังหลักไม้ตรงกลางลานข้าวเพื่อผูกควาย
    • ใช้เคียวเกียวเขน็ดมันฟ่อนฟางให้ขาดออก
    • กระจายฟางข้าวเป็นวงกลมในลานข้าน
    • บังคับให้ควายเดินเป็นวงลม
    • ใช้ไม้ขอฉายกระจายฟางและใช้ด้ามตีฟางไปพร้อมๆ กันกับเวลาที่ควายย่ำฟาง
    • เมื่อสังเกตว่าข้าวร่วงดีแล้ว เกาะฟางให้ออกจากลานไปกองไว้เป็นกองฟาง
    การเก็บข้าว
    เมื่อตีข้าวเสร็จก็โปรยข้าวเพื่อให้ข้าวลีบหรือเศษฟางเล็กๆ ไม่มีน้ำหนักปลิวออกไปจากเมล็ดข้าว จะทำในวันที่มีลมแรง ทำโดยการเอากระบุงตักข้าวแล้วเทลงพื้นทีละน้อยให้ลมพัดเอาข้าวลีบออกข้าวที่แห้งดีแล้วจะถูกนำเข้าไปเก็บในยุ้ง ซึ่งชาวนาจะมียุ้งข้าวทุกหลังคาเรือน เวลาเก็บจะนับเป็นกระเฌอ หรือบางบ้านที่พอหากระสอบข้าวได้ก็จะตวงเป็นกระสอบ ข้าวที่ได้จะเก็บไว้กินมากกว่าที่จะขาย อาจจะมีการขายบ้างก็เพียงเพื่อให้ได้เงินไว้ใช้เล็กน้อยเท่านั้น
    การเก็บฟาง
    ฟางที่เหลือจากการนวดจะถูกเกาด้วยไม้ขอฉายมารอบๆ หลักไม้ไผ่ที่มีความสูงตามแต่จะเห็นเหมาะสมเพื่อเป็นหลักให้ฟางมีที่ยึดเวลากองขึ้นสูง กองฟางจะถูกเก็บไว้ในบริเวณที่ตีข้าว เก็บไว้เพื่อเป็นอาหารควายหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสียเป็นส่วนมาก
    การสีข้าว
    มีโรงสีข้าวของแม่ใหญ่จ่าย(ไม่ทราบนามสกุล) ตั้งอยู่เมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน ได้เลิกล้มกิจการย้ายไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ และต่อมา นายดวน บาทขุนทด ได้ตั้งโรงสีข้าวขนาดกลางที่ตำแหน่งเดิม อยู่ประมาณสิบปี ก็เลิกกิจการ การสีข้าวในสมัยก่อนโรงสีจะหักข้าวสารจากเข้าเปลือที่สีได้เป็นส่วน หากต้องการสีข้าวเป็นจำนวนมากชาวบ้านจะขนข้าวด้วยรถเข็นไปสีที่ตลาดปะคำ หรือตลาดโคกสวาย เนื่องจากสีได้เร็วกว่า ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่นิยมสีข้าวแต่ใช้การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องแทน
    พ่อใหญ่จอย พาผล ได้เคยทำเครื่องสีข้าวที่ใช้แรงควายสี แต่ไม่ได้รับจ้างสีข้าวให้ชาวบ้าน ทำใช้ในครัวเรือนเท่านั้น น่าเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้เก็บภาพถ่ายไว้ในสมัยนั้น
    หลังการเก็บเกี่ยว
    หลังฤดูเก็บเกี่ยว ฟางข้าวจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการไถกลบ หรือเผา พื้นนาจะกลายเป็นที่สาธารณะ ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์เข้าไปใช้ได้โดยไม่ต้องขอกัน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นที่เลี้ยงควาย จึงจะเห็นเด็ก และผู้ใหญ่นำควายออกไปเลี้ยงเป็นฝูง ในทุ่งนา และเข้าไปอาศัยพักตามกระท่อมนาเหมือนเป็นเจ้าของ
    เมื่อเสร็จหน้านาชาวนาก็มีเวลาพักผ่อนที่ยาว ประเพณีและพิธีบุญอะไรต่างๆ จะฉลองกันนาน เช่นประเพณีสงกรานต์ ชาวบ้านจะเล่นสงกรานต์ก่อนและหลังวันสงกราณ์เป็นอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ มีเวลาไปช่วยงานวัด ช่วยงานส่วนรวมมาก แม้หมู่บ้านของตนไม่มีวัดก็เดินกันไประยะทาง 2-3 กิโลเมตรก็เดินไปกันได้ คนไปวัดมากเป็นร้อยถึงห้าร้อย หากเป็นวันเทศกาลสำคัญๆ คนก็จะยิ่งมาก
    สรุปการทำนาในอดีต
    • การทำนาจะอาศัยแรงงานคน แรงงานสัตว์เป็นหลัก
    • มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เริ่มต้นการทำนาจนจบขั้นตอนสุดท้าย
    • ชาวนาจะทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กิน ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินมากนัก
    • หลังการทำนาเป็นเวลาพักผ่อนมาก
    • ข้อมูลจาก  www.huathanon.wordpress.comhttp://huathanon.wordpress.com/2010/11/06/rice-farming-in-the-past/

    การรับจำนำข้าว


    โครงการประกันราคา

    โครงการประกันราคา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแก้ ปัญหาการคอรัปชันจากการรับจำนำจากรัฐบาลชุดก่อน เพื่อเป็นการประกันว่า
    เกษตรกรจะขายข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท และอาจจะปรับขึ้นในปีต่อไป

    ข้อดี


    - เป็นการประกันว่าชาวนาจะขายข้าว ได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท (และจะปรับขึ้น ในปีต่อไป) แม้ว่าราคาข้าวในท้อง ตลาดจะเป็นเท่าไรทางรัฐจะชดเชยส่วน
    ที่ขาดหายไปให้

    - จำนวนเกษตรกรจะได้รับประโยชน์
    จากโครงการนี้มากกว่า

    - ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาด
    ไม่มีการบิดเบือน

    - ปัญหาทุจริตคอรัปชันจากเจ้าหน้าที่
    รัฐมีน้อยมากเพราะเงินสู่มือชาวนา
    โดยตรงผ่านธนาคาร ธ.ก.ส.

    - แม้เกิดภัยพิบัติจากน้าท่วม,ศัตรูพืช ระบาดชาวนาก็จะยังได้ส่วนต่าง
    แม้ไม่มีผลผลิต
    ข้อเสีย


    - รัฐต้องจ่ายเงินไปสู่เกษตรโดยตรง ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้เป็น
    จำนวนมากโดยไม่ได้อะไรกลับมา

    - มีการแจ้งการทำนาที่เป็นเท็จ เช่น
    ทำนา 10 ไร่บอกว่า 20 ไร่ แม้จะมี
    ประชาคมแต่บ้างครั้งต่างก็เกรงใจกัน
    ไม่กล้าคัดค้านหรืออาจเนื่องจากต่าง
    คนต่างแจ้งเท็จด้วยกัน เรื่องนี้มีบ่นกัน มาก

    - ทำให้ราคาข้าวไม่ขึ้นเกินหนึ่งหมื่น บาทเพราะพ่อค้ารับซื้อรู้ว่ารัฐ
    จ่ายส่วนต่างให้เกษตรแล้วเหมือน
    รัฐกดราคาข้าวไม่ให้เกินหนึ่งหมื่นบาท

    - การจ่ายเงินส่วนต่างจะจ่ายให้แค่
    25 ตัน ถ้าใครได้เกินกว่า 25 ตัน ไม่ได้รับส่วนต่าง

    - คิดให้ผลผลิตข้าวที่ 500 กก. ต่อไร่ ถ้าใครทำได้มากกว่านั้นก็ไม่ได้

    โครงการรับจำนำ

    โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และมาหยุดโครงการดังกล่าวในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า มีช่องโหวในเรื่องของการคอรัปชัน ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ก้าวเข้ามาครั้งนี้ จึงนำนโยบายดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
    ข้อดี


    - จากการประกาศจำนำราคาข้าวที่ 15,000 บาท ชาวนาจะได้รับเงิน 15,000 เลย (กรณีข้าวมีความชื้นที่
    15 เปอร์เซนต์) ซึ่งเป็นเงินสด

    - ชาวนา มีข้าวเท่าไรก็ขายได้ตาม จำนวนผลผลิตที่ได้ เช่น หากทำนา มีข้าว 10 ตัน ก็ได้ทั้ง 10 ตัน เป็นเงิน 150,000 บาท

    -ชาวนาจะได้รับเป็นเงินสดทันทีเมื่อ
    ขายข้าว

    - จะทำให้ ราคาข้าวในท้องตลาด
    เพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้าพ่อค้าไม่รับซื้อ ในราคาสูงก็ไม่มีข้าวขายเพราะรัฐ
    จะซื้อเองหมด

    - รัฐบาลสามารถควบคุมราคาซื้อ-ขาย ข้าวได้ (ในการส่งออกและบริโภคภาย ในประเทศ)
    ข้อเสีย


    - จากอดีตที่ผ่านมามีการคอรัปชันสูง ทำให้รัฐต้องขาดทุนปีละหลายหมื่น ล้าน

    - รัฐอาจต้องสร้างโกดังไว้เก็บข้าวเอง จำนวนมาก

    - เป็นการ บิดเบือนกลไกตลาดทำให้ รัฐต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อข้าวซึ่ง รัฐไม่น่าจะมีเงินมากมาซื้อข้าวชาวนา
    ได้ทั้งหมดในกรณีที่พ่อค้าไม่รับซื้อข้าว
    แข่ง

    - รัฐต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อยในการ
    สต๊อกข้าวและรักษาคุณภาพข้าว
    จำนวนมากถ้าขายข้าวไม่ได้

    - อาจมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามา
    สวมสิทธิ์




    แหล่งที่มาของข้อมู   ไทยรัฐ  ออนไล
    http://www.thairath.co.th/page/price_guarantee